วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 11, 2555

มาอนุรักษ์การทอเสื่อกันเถอะ


ประวัติการทอเสื่อ




             มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่ามีการใช้เสื่อในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยกรุง ศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งพระนิพนธ์ไว้ในเอกสาร คราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝั่งตะวันออกที่เมืองจันทบุรี ในราว พ.ศ. 2450 มีหลักฐานสำคัญ ที่ทำให้เห็นว่าเสื่อจันทบูรนั้นได้ริเริ่มขึ้นโดยฝีมือของชาวญวนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ในพื้นที่บริเวณหลังวัดโรมันคาทอลิค ต.จันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี ประวัติการเข้ามาของชาวญวนมีหลักฐานปรากฏในปี พ.ศ. 2254 (อยุธยาตอนปลาย) ที่บันทึกว่าพระสังฆราชปิออง ซีเอซ ได้ให้คุณพ่อเฮิ้ต (Hentteh) เดินทางจากประเทศญวนมาดูแลชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคอทอลิค ในจังหวัดจันทบุรี พบว่าในขณะนั้นมีชาวญวนคาทอลิคราว 150 คนที่มาอยู่ที่จันทบุรี ก่อนหน้านั้นหลายปี
             จนกระทั่งปี พ.ศ. 2377 (รัชกาลที่ 3) วัดโรมันคาทอลิคถูกสร้างขึ้น ณ บริเวณ ต.จันทนิมิต ในปัจจุบันเป็นที่อยู่ของคนญวนเดิม และอพยพเข้ามาตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ชาวญวนเหล่านี้นับถือพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาไม่นานก็ผสมผสานกลมกลื่นเข้ากับชุมชนในท้องถิ่น (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ .2518 : 154155) ต่อมาในช่วงสมัยฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรี (รศ.112) พ.ศ. 2436 ยังปรากฏว่าชาวญวนก็เข้ารีต (สมัครใจนับถือศาสนาคริสต์) และทหารญวนในอาณัติฝรั่งเศสเข้ามาในเมืองจันทบุรีอีกมาก ทั้งนี้กินเวลาที่ชาวญวนมาอยู่จันทบุรี รวมเวลามากกว่า 286 ปี คนญวนได้ชื่อว่า หลวงสาครคชเขตต์ ได้กล่าวถึงเสื่อจันทบูรในหนังสือ จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 24362447ความว่า
              การทำเสื่อญวนนั้นตามธรรมดาเชื้อชาติญวนนับว่าเป็นผู้ที่มีความชำนิชำนาญในการพลิกแพลงจัดทำยิ่งกว่าบุคคลชาติไทยด้วยกัน ซึ่งพวกนักบวชชีแห่งสำนักวัดโรมันคาทอลิคด้วยแล้วก็เกือบจะต้องนับว่าเขามีความรู้ความชำนาญมากที่สุด ฉะนั้นเสื่อจันทบุรีที่มีลวดลายลักษณะดอกดวง งดงาม หรือจะเป็นภาพสัตว์ต่างๆ ตลอดจนแม้ที่สุดจะประดิษฐ์ เป็นตราอาร์มของรัฐบาล ดังเช่น รูปช้าง รูปครุฑ เหล่านี้ เขาจะทำได้เป็นอย่างดี นอกจากเขาจะทำเป็นเสื่อสำหรับใช้ธรรมดาแล้วในเวลานี้พวกช่างทอเสื่อยังได้ประดิษฐ์เป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ อีกหลายอย่าง ดังเช่น การทำกระเป๋าเสื่อชนิดใส่เสื้อผ้า สิ่งของเบ็ดเตล็ดต่างๆ จนถึงขนาดเล็กใส่สตางค์เป็นที่สุด หรือจะทำเป็นหมอนอิง เบาะ เก้าอี้ โดยจะผลิตเป็นลวดลายขนาดใดๆก็ย่อมจัดทำได้สุดแต่ผู้ต้องการ จะให้ทำ เขาก็รับจัดทำให้ทั้งนั้น นับได้ว่าสินค้าเสื่อกับกระเป๋าเหล่านี้ เป็นสินค้าสำคัญของชาวจันทบุรี อีกประเภทหนึ่ง (หลวงสาครคชเขตต์ .2515 : 259262)
               การผลิตเสื่อกกในสมัยแรกเริ่มของชาวญวนในจังหวัดจันทบุรีนั้น ต้องไปหาต้นกกจากพื้นที่ที่สามารถปลูกได้ คือที่หมู่บ้านเสม็ดงาม อ.เมือง และหมู่บ้านบางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ เพราะพื้นที่ทั้งสองหมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่ลุ่ม มีน้ำขัง มีต้นกกขึ้นอยู่ทั่วไป ด้วยเหตุนี้อาชีพการทอเสื่อจึงได้แพร่กระจายเข้ามาในหมู่บ้านทั้งสองแห่งนี้ในเวลาต่อมา  (สนพ.สารคดี.2538:131)
               ชาวญวนมักจะเหมาซื้อกกจากชาวบ้านเป็นไร่โดยไปตัดเก็บและขนแบกกันมาเอง แล้วคัดขนาดที่มีความยาวตั้งแต่ 2 - 3 คืบ ถึง 8 - 9 คืบ จักแต่งอย่างดีแล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิทก่อนจึงนำมาย้อมสี หลังจากย้อมสีและตากแห้งดีแล้วจึงนำเสื่อกกมาทอเป็นผืนเสื่อ และเย็บริมให้เรียบร้อย สมัยก่อนถ้าต้องการสีแดงเขาใช้เปลือกไม้ฝาก ซึ่งหาได้ตามป่าเมืองจันทบุรี ถ้าต้องการสีดำก็นำไปคลุกโคลน แต่หากโดนน้ำก็จะหลุดลอกง่าย ด้วยเหตุนี้มักเป็นที่เข้าใจว่า สีเสื่อกกดั้งเดิมของเสื่อจันทบุรีนั้นมีเพียงสีดำและแดงเท่านั้น
               ต่อมากิจการทอเสื่อของชาวญวนค่อยๆลดจำนวนลง เพราะอาชีพค้าพลอยเริ่มเข้ามาในหมู่บ้านเรื่อยมาจนในช่วงปี พ.ศ. 25222523 ตลาดพลอยเมืองจันท์รุ่งโรจน์ เจริญเติบโตสูงสุด ชาวญวนส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพทอเสื่อต่างพากันละทิ้ง หันมาค้าพลอยซึ่งทำรายได้ดีกว่า อีกทั้งการได้มาเป็นตัวเงินนั้นก็ได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช้เวลานานเท่ากับการทอเสื่อขาย เป็นสาเหตุให้กิจการทอเสื่อของชาวญวนลดน้อยลงมาก แต่ก็เหลืออยู่บ้าง เช่น กิจการทอเสื่อของคุณลุงนิคม  เขมาวาสน์  เจ้าของร้านจำเนียรหัตถกรรมอยู่บริเวณวัด          จันทนิมิต
                พื้นที่บริเวณหลังวัดโรมันคาทอลิค ซึ่งอดีตแทบทุกหลังคาเรือนจะมีอาชีพทอเสื่อกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันนี้จะพบเห็นทอเสื่อบ้างแต่น้อยมาก และจะเห็นได้ว่าชาวญวนบริเวณหลังวัดในปัจจุบันมีอาชีพค้าพลอย เจียระไรพลอย กันเป็นส่วนมาก จึงเป็นสาเหตุให้กิจการทอเสื่อในบริเวณหลังวัดโรมันคาทอลิคลดลง  


ชนิดของเสื่อ
          1. เสื่อกก เป็นเสื่อที่ผลิตจากต้นกก ซึ่งเป็นพืชล้มลุกมีหัวคล้ายข่า แต่เล็กกว่า ปลายลำต้นมีดอก แพร่พันธุ์ด้วยหัว ด้วยการแตกแขนงเป็นหน่อ กกจัดเป็นพืชเส้นใย ปลูกและเจริญงอกงามได้ดีในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากต้นกกพันธุ์ต่างๆ ได้แก่
               1.1 เสื่อจันทบูร เป็นเสื่อที่ผลิตจากกกจันทบูร ซึ่งเป็นกกที่มีลักษณะลำต้นกลม จึงอาจเรียกว่ากกกลม หรือกกเสื่อ ลำต้นเรียวคล้ายต้นคล้า ผิวสีเขียวแก่ ข้างในลำต้นมีเนื้ออ่อน สีขาว เป็นกกที่ปลูกกันมานานแล้วในภาคตะวันออก คือ จังหวัดจันทบุรี ระยองและตราด ซึ่งมีการปลูกมากที่สุดในจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้หากเป็นกกที่ปลูกในแหล่งน้ำจืด เส้นใยกกจะไม่เหนียว แต่หากปลูกในแหล่งน้ำกร่อย (ที่แถบชายฝั่งทะเล) จะได้เส้นใยที่เหนียว
               1.2 เสื่อกกที่ทอจากกกลังกา เป็นกกที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ต้นค่อนข้างกลม ใช้ทอเสื่อในบางจังหวัด เช่น สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ กกจันทบูร กกกลมและกกลังกา มีลักษณะลำต้นกลมคล้ายกัน บางครั้งอาจมีความสับสนในการเรียกชื่อ
               1.3 เสื่อกกที่ทอจากกกสามเหลี่ยม ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำกกชนิดนี้มาใช้ ซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า กกผือ หรือต้นปรือ หรือกกควาย เช่นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย (กองส่งเสริมเทคโนโลยี .2535 : 5 – 8)
          กกสามเหลี่ยม มีลักษณะลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านทั้งสามเว้าเข้าหาแกนกลาง ผิวสีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1 เมตร ผิวแข็งกรอบและไม่เหนียว
          2. เสื่อกระจูด (กะจูด) หรือสาดจูด ทอจากกกกระจูด ซึ่งเป็นพืชน้ำจำพวกกกชนิดหนึ่ง แหล่งที่มาพบมากอยู่ทางหมู่เกาะมาดากัสการ์ มาริเซียส ลังกา สุมาตราและแหลมมลายู ในประเทศไทยจะมีทางภาคใต้และภาคตะวันออก ปลูกตามหนองบึง หรือบริเวณที่มีน้ำขัง หรือที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะหรือที่เรียกว่า พรุ ลำต้นกระจูดคล้ายกับต้นกกที่ใช้ทอเสื่อ แต่กกกระจูดจะมีลำต้นกลมกว่าและข้างในกลวง เมื่อโตเต็มที่จะสูงประมาณ 2 เมตร ก่อนนำกกกระจูดมาสานต้องนำมาทุบให้แบนเสียก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกกกระจูดสามารถทำได้หลายประเภท เช่น ทำเป็นเสื่อรองนั่งและปูนอน ทำกระสอบใส่ข้าวสารหรือของแห้งต่างๆ ทำเชือกมัดของและทำเป็นใบเรือเดินชายฝั่งทะเล การปลูกต้นกระจูดและผลิตภัณฑ์เสื่อกระจูดมีมากในหลายอำเภอของจังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และนราธิวาส (วิวัฒน์ชัย บุญศักดิ์ .2532 : 14)            3.เสื่อเชียงราย เป็นเสื่อที่ผลิตจากกกยูนาน ซึ่งได้นำเข้ามาพร้อมกับการอพยพของจีนฮ่อ จากมณฑลยูนานทางตอนใต้ของจีนเข้ามาในภาคเหนือของไทย เมื่อราวร้อยกว่าปีมาแล้ว ปลูกมากที่ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
          4. เสื่อลำเจียกหรือเสื่อปาหนัน เป็นเครื่องจักสานเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดกระบี่ เป็นเสื่อที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทำจากใบลำเจียกหรือใบปาหนันซึ่งเป็นต้นไม้จำพวกเตย นำมาสานเป็นเสื่อ กระสอบ (หรือสอบ) สำหรับใส่ข้าวสารหรือพืชผล สำหรับการทอเป็นเสื่อปูรองนั่งที่วัดหรือสุเหร่า โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม สำหรับคู่แต่งงานใหม่ จะสานเสื่อเพื่อใช้ปูนอนเป็นที่นอน โดยต้องใช้เสื่อประมาณ 12 – 30 ผืน ซึ่งผืนที่อยู่ด้านบนสุดที่เรียกว่า สาดยอด หรือ ยอดสาด หรือ ยอดเสื่อ จะสานเป็นลวดลายสวยงาม อาจประดับด้วยกระจก ปักด้วยไหมและดิ้นทอง
          5 . เสื่อหวาย เป็นเสื่อที่ผลิตจากเส้นหวาย มีลักษณะเป็นเถายาว มักพบในป่า มีคุณสมบัติ เหนียว แข็งแรง ทนทาน มีแหล่งผลิตอยู่ที่ จังหวัดบุรีรัมย์ ศรีษะเกษ สุรินทร์และภาคกลางที่จังหวัดนครสวรรค์
          6 . เสื่อคล้า เป็นเสื่อที่ผลิตจากต้นคล้า ซึ่งเป็นต้นไม้ป่าชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายต้นข่าหรือต้นกก ใบเรียวคล้ายใบข่าแต่สั้นกว่า เป็นพืชที่มีผิวเหนียวทนทานมาก จะต้องคัดเลือกต้นคล้าที่มีลำต้นตรงยาวประมาณ 80 – 100 ซม. นำมาตากแดดจนเป็นสีน้ำตาลไหม้ ก่อนนำมาสานจะพรมน้ำให้ผิวคล้านุ่มจะทำให้สานง่ายขึ้น เสื่อคล้าผลิตใช้ในครัวเรือนทางภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรีแถบตำบลขโมง อำเภอท่าใหม่ ตำบลชำโสม อำเภอมะขาม ชุมชนชาวชอง กิ่งอำเภอเขาคิชกูฎ ส่วนทางภาคใต้นิยมนำคล้ามาสานทำเป็นภาชนะต่างๆ เช่นเดียวกับไม้ไผ่หรือหวาย (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ .2532 : 97)
          7. เสื่อลำแพน เป็นเสื่อที่ผลิตจากผิวของต้นไผ่ ซึ่งนำมาจักเป็นตอกให้แบนใหญ่แล้วสานด้วยลายสองหรือลายสาม มักใช้ไม่ไผ่เฉี้ยะหรือไม้ป้าว เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนนำมาจักเป็นเส้นตอกได้ดี เสื่อลำแพนนิยมสานเป็นผืนใหญ่ๆ ใช้ทำฝาบ้านหรือเพดานบ้าน บางบ้านก็นำไปใช้ ปูนั่ง ปูนอน หรือบางทีก็นำไปใช้ตากพืชพันธุ์ ตากปลา ตากกุ้ง เป็นต้น
           8 . เสื่อแหย่ง นิยมนำมาสานเสื่อสำหรับปูนั่งนอน มีทำไม่มากนัก แหย่ง เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ชาวเหนือนำมาใช้ทำเครื่องสาน แหย่งมีลักษณะคล้ายไม้ไผ่ แต่อ่อนนุ่มกว่า ไม่มีข้อแข็งกว่าหวาย ใช้ได้ทนกว่ากก ชอบขึ้นตามที่ชื้นแฉะในเขตภาคเหนือของไทย นิยมนำมาสานเสื่อสำหรับปูนั่งนอน หรือเป็นส่วนประกอบของบ้าน เช่น ฝาบ้าน เพดานบ้าน หรือสานเป็นแผ่น ใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ กันได้ดี เพราะมีผิวสีเหลืองสวย เมื่อใช้ไปนานๆ จะขึ้นเป็นมันเงา แหย่งในภาคเหนือในปัจจุบัน มีทั้งที่ขึ้นเองและที่ชาวบ้านนำมาปลูกเอาไว้ใช้
          9.เสื่อดอกอ้อ ทำที่เมืองจันทบุรี โดยการนำเอาก้านดอกของต้นอ้อมาผ่า แล้วนำมาทอเป็นเสื่อสีเหลืองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องย้อม ไม่เป็นสินค้าซื้อขาย เพียงแต่ทอไว้มอบให้กัน (วัฒนะ จูฑะวิภาต .2537 : 81)



อุปกรณ์และวัตถุดิบ
                อุปกรณ์ในการทอเสื่อจำแนกได้  2  ประเภท คือ
1.  อุปกรณ์เกี่ยวกับการเตรียมวัตถุดิบ
2.  อุปกรณ์เกี่ยวกับการทอเสื่อและแต่งเสื่อ

 
                    

กระบวนการทอเสื่อ
 
                                                                             
1.   เครื่องใช้ อุปกรณ์ในการทอเสื่อ
1.1  กกย้อมสีต่างๆ เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีดำ สีเขียว สีเหลือง เป็นต้น 
1.2   เส้นเอ็นปอ ใช้สำหรับขึง ได้มาจากการนำเนื้อเยื่อของเปลือกกระเจามาฉีกเป็นเส้นฝอย เล็กๆ แล้วนำมาปั่นให้เป็นเกลียวต่อให้ยาวติดต่อกัน
1.3   ฟืม คือ เครื่องมือที่กระทบเส้นกกให้แน่น ยาวเท่ากับขนาดกว้างของผืนเสื่อที่ทอ ประกอบด้วยช่องฟันฟืมและรูฟันฟืมสลับกันไปทั้งสองด้าน

 


      1.4 ไม้ส่งเส้นกก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้พุ่ง ทำด้วยไม้ยาวพอที่จะส่งเส้นกกได้ตลอดความกว้างของผืนเสื่อ ปลายเรียวเหมือนปากกาสำหรับพันเส้นกก เพื่อในขณะที่ส่งเส้นกก เมื่อชักไม้กลับมาเส้นกกจะได้ไม่กลับตามออกมา
        1.5 ไม้ทำคาน ต้องใช้ 4 ท่อน แบ่งออกเป็น ท่อนใหญ่ 2 ท่อน ใช้ผูกติดกับเสาหลักเป็นคานเรียกว่า คานตาย ส่วนคานอีก 2 ท่อน ใช้สำหรับผูกมัดเส้นเอ็นปอสามารถเลื่อนเข้า ออกได้เรียกว่า คานเป็น
       1.6  เกลียวเร่ง ใช้สำหรับผูกมัดระหว่างคานเป็นกับคานตาย เพื่อหมุนเกลียวเร่งเข้าหากันให้เส้นเอ็นขึงนั้นมีความตึง อยู่เสมอ (อาจใช้เชือกแทนก็ได้)
       1.7 ไม้รองคานหรือที่ชาวบ้านรียกว่า ไม้ตุ๊กตา ทำจากไม้กว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาวประมาณ 10 นิ้ว ด้านล่างเรียบใช้ตั้งกับพื้น ด้านบนเป็นง่ามใช้รองรับคานเป็นให้สูงขึ้นจากพื้น มีจำนวน 4 อัน

 
   
       1.8ไม่ขัดเอ็น ใช้ไม้ไผ่เหลาให้บางพอประมาณ กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวตามความเหมาะสม ใช้สำหรับขัดเส้นเอ็นก่อนที่จะส่งเส้นกกเส้นแรกและเส้นต่อๆ ไปจำนวนต้นละ 2 อัน
       1.9 เทียน ,ขี้ผึ้ง สำหรับทาเอ็นเพื่อให้เกิดความลื่นของเส้นเอ็น เป็นการเบาแรงในการกระทบ
       1.10น้ำ เตรียมไว้สำหรับชุบ ปลายกกทั้งสองข้าง เพื่อให้เส้นกกนิ่ม สะดวกในการพันกับไม้พุ่งกก

2. การร้อยเส้นเอ็น  การร้อยเส้นเอ็นนี้มีต่างๆกันหลายชนิด แล้วแต่ลวดลายของเสื่อ อาทิเช่น      
       2.1 เสื่อชั้นเดียว ที่จริงควรเรียกว่า เสื่อลายขัด เห็นจะถูกกว่า การร้อยเส้นเอ็นเสื่อชั้นเดียว ร้อยทุกฟันฟืมและรูฟันฟืมโดยไม่มีเว้น คือ ร้อยจากช่องฟันฟืมไปหารูฟันฟืม สลับกันไปตลอดความยาวของตัวฟืม
       2.2 เสื่อ 2 ชั้น เสื่อสองชั้นนี้ต้องใช้ฟืมที่มีฟันฟืมเล็กกว่าฟืมชั้นเดียว ทอเป็นลวดลายได้หลายชนิด เป็นต้นว่า ลายตาหมากรุก ลายตาสมุก ลายตาเกล็ดกระ และลายตาเกล็ดเต่า เป็นต้น วิธีการร้อยเส้นในลายต่างๆ ไม่เหมือนกัน 
          2.2.1 ลายตาหมากรุก ต้องร้อยอย่างเดียวกับเสื่อชั้นเดียวจนหมดฟันฟืมเล็กๆ เมื่อถึงฟันใหญ่ให้ร้อยเส้นหนึ่งเว้นเส้นหนึ่งจนตลอดฟันใหญ่ แล้วเริ่มร้อยฟันเล็กอีกด้านหนึ่งเหมือนตอนต้น
          2.2.2 ลายตาหมากสมุก ทุกลายจะต้องร้อยตรงฟันเล็กเช่นเดียวกันเสมอ ตรงฟันใหญ่เริ่มร้อย 3 เส้น เว้น 1 เส้น ต่อไปร้อย 2 เส้น เว้น 1 เส้น และต่อไปร้อย 3 เส้นเว้น 1 เส้นร้อย 2 เส้น เว้น 1 เส้น สลับกันไปอย่างนี้ตลอดฟันใหญ่และจบลงด้วยฟันเล็กเช่นเดิม
          2.2.3 ลายตาเกล็ดกระ ตรงฟันใหญ่เว้น 1 เส้น ร้อย 4 เส้นเว้น 1 เส้นร้อย 4 เส้นตลอดไป
          2.2.4 ลายเกล็ดเต่า ตรงฟันใหญ่เว้น 1 เส้นร้อย 5 เส้นเว้น 1 เส้นร้อย 5 เส้น ตลอดไป
           นอกจากนี้ยังมีการร้อยลายตาผ้าเช็ดหน้า ลายห้องอีกหลายลาย แต่ทั้งนี้เป็นการยากในการเขียนอธิบายและการจดจำ ปัจจุบันนี้การทอเสื่อสองชั้นแทบจะไม่มีใครทอ นอกจากเป็นการสั่งพิเศษ ในอดีตการทอเสื่อสองชั้นจะนิยมใช้กกที่เส้นหยาบทอ ถ้าใช้กกเส้นละเอียดทอจะเกิดการซ้อนกันและสิ้นเปลือง
3. วิธีการทอเสื่อ การทอนี้ต้องใช้ 2 คนด้วยกัน คนหนึ่งเป็นคนกระทบ อีกคนหนึ่งเป็นคนพุ่งเส้นกก
         คนทอ มีหน้าที่พลิกฟืมให้คว่ำหงายและกระทบเส้นกก พร้อมกับการคอยสังเกตลักษณะของเส้นกกที่กระทบกันนั้น ขาด โค้งงอหรือไม่ ผู้พุ่งให้สีหรือเปลี่ยนสีที่ถูกต้องหรือไม่

       ผู้พุ่ง มีหน้าที่ส่งเส้นกกตามจังหวะหงายและคว่ำฟืม พร้อมด้วยการทำลวดลายของผืนเสื่อ การขึงเส้นเอ็นเพื่อการทอ ส่วนใหญ่การขึงครั้งหนึ่งจะทอเป็นเสื่อได้ 2 ผืน เมื่อทอเสร็จแล้วก็จะจำหน่ายให้กับกลุ่มเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสื่อกก

4. การสร้างลวดลายบนผืนเสื่อ           ลายพื้นฐานของเสื่อกก เป็นลายขัด เพียงแต่ใช้การสลับสีของเส้นกก ทำให้เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม เรียกว่า ตา ลายของเสื่อพอจำแนกออกเป็นลายหลักๆ ได้ดังนี้
          4.1 ลายพื้น หมายถึงการใช้สีกกสีเดียว พุ่งสลับการคว่ำหงายของฟืมติดต่อกัน ก็จะได้เป็นสีพื้น เช่น พื้นเขียว พื้นแดง พื้นขาว เป็นต้น

ลายพื้น
            4.2 ลายไหลหรือลายน้ำไหล หมายถึง การใช้กกสองสี พุ่งสลับกับคว่ำฟืม 1 สี หงายฟืม 1 สี ก็จะได้ทางสีสลับกันตามเส้นเอ็นที่ขึง     

ลายไหล
            
              4.3 ลายสลับ หมายถึง การใช้กกสองสีหรือจะเป็นสามสีก็ได้ สีหนึ่งจะเป็นสีพื้น อีกสองสีจะเป็นสีทำตา การพุ่งจะใช้สีทำตาพุ่งสลับกันกับสีพื้น เวลาจะสลับตาก็พุ่งสีพื้นติดต่อกัน 2 เส้น ตาของเสื่อก็จะสลับ ลายสลับที่นิยมทอกันทั่วไป ได้แก่ ตาแดงดำ ตาแขก ตาตะแคง ตาพริกไทย ตาสอดไส้ เป็นต้น
                                                   
                                                                                
                                                                           ลายสลับ
          4.4 ลายผสม หมายถึง การทอเป็นตาใหญ่ๆ ที่ผสมสานกันของทั้งสามลายที่กล่าวแล้วข้างต้น ได้แก่ ตาลูกโซ่ ตาก้างปลา ตาไม้กางเขน ตาดอกจันทร์ เป็นต้น        

ลายผสม


ลายสามหนึ่ง


ลายหมากรุก


            ลวดลายเสื่อที่ออกมาแต่ละผืน ล้วนเกิดจากจินตนาการความคิดของผู้ทอ ในการใช้สีสลับสี การผสมผสานกันด้วยลายต่างๆ ทำให้เกิดเป็น ตา บนผืนเสื่อ มีชื่อเรียกตามความคิดและความเข้าใจของผู้ทอ ไม่มีชื่อที่แน่นอนและตายตัว